เจ้านายพระชันษายืน


มีความเข้าใจผิดมากๆ เกี่ยวกับเจ้านาย (เชื้อพระวงศ์) ที่มีพระชนมายุมากที่สุดในพระราชวงศ์จักรี…
ยิ่งการนำเสนอพระราชประวัติสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (พระนามเดิม “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา” พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม) บ่อยๆ เพราะทรงเป็นสมเด็จย่าของพระเจ้าอยู่หัว
อีกทั้งทรงมีพระชนมายุยืนยาวมาก…
แต่ไม่ใช่มากที่สุดอย่างที่หลายคนเข้าใจกันครับ…

ถึงกับมีหนังสือบางเล่มที่พิมพ์เผยแพร่ไปทั่วประเทศกล่าวว่า “พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีพระชนมายุยืนยาวที่สุด ได้ทรงเห็นความเปลี่ยนแปลงของเมืองไทยกี่รัชกาล” และคำเฉลยในข้อ 162 เสด็จสวรรคต “เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 ณ วังสระประทุม ในสมัยรัชกาลที่ 9 รวมพระชนมายุได้ 93 พรรษา

ด้วยเหตุที่เป็นเชื้อพระวงศ์ที่มีบทบาทสำคัญมากพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย และมีพระชนมายุยืนยาวมาก จึงทำให้ทรงเป็นที่สนใจอยู่เสมอ ผมเองก็ได้ศึกษาพระราชประวัติของพระองค์ท่านในระดับหนึ่ง พร้อมทั้งพระราชประวัติของเชื้อพระวงศ์พระองค์อื่นๆ ประกอบ ขอนำเสนอวันประสูติ วันสวรรคต และพระชนมายุของพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 อีก 2 พระองค์ ประกอบกับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือสมุดพระรูปพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4). และหนังสือเจ้านายพระชันษายืน) ดังนี้

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
(พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา)
ประสูติ 10 กันยายน 2405 (ค.ศ.1862)
สิ้นพระชนม์ 17 ธันวาคม 2493 (ค.ศ.1955)
รวมพระชันษา 93 ปี 3 เดือน 7 วัน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา
กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี
ประสูติ 13 พฤษภาคม 2407 (ค.ศ.1864)
สิ้นพระชนม์ 18 กรกฎาคม 2501 (ค.ศ.1958)
รวมพระชันษา 94 ปี 2 เดือน 5 วัน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประดิษฐาสารี
ประสูติ 19 กรกฎาคม 2408 (ค.ศ.1865)
สิ้นพระชนม์ 18 มีนาคม 2505 (ค.ศ.1962)
รวมพระชันษา 96 ปี 5 เดือน 29 วัน
และในเชิงอรรถ 46 หน้า 45 ในหนังสือสมุดพระรูปฯ กล่าวว่า “ในฐานะที่ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในที่อาวุโสสูงสุด (เช่นเดียวกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี) ทรงจัดพระที่ในห้องพระบรรทม และกราบบังคมทูลถวายพระพรชัย-มงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ในงานพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก (พฤษภาคม 2493) ทรงดำรงพระชนม์ชีพเป็นพระองค์สุดท้ายในจำนวนพระราชโอรสและพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และทรงมีพระชันษายืนยาวที่สุดในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปในราชวงศ์จักรี

น่าจะเคยทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์กุลเชษฐ์แห่งพระราชวงศ์จักรี หลังจาก กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลิ สิ้นพระชนม์ื ตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์

ดังนั้นจึงน่าจะสรุปได้ว่า “สมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกา” มิใช่เจ้านายที่มีพระชนมายุยืนยาวที่สุด…

เมื่อทราบดังนี้แล้วก็กรุณาเปลี่ยนความคิดว่าพระองค์มีพระชนมายุยืนยาวที่สุดได้เสียทีนะครับ

ใส่ความเห็น