“ปิตุจฉา” กับ “มาตุจฉา”

อ่านพระราชประวัติ และพระประวัติ พระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๖ – ๘ แล้วพบอย่างหนึ่งในคำนำหน้าพระนาม พระอิสริยยศ แล้วให้เกิดความสงสัย คือ

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (สมัยรัชกาลที่ ๗)

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ ๗

สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร (ในรัชกาลที่ ๘, ๙)

ที่สงสัยคือคำว่า “ปิตุจฉา” กับ “มาตุจฉา” เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
บาง คนอาจคิดว่าไม่เห็นจะน่าสงสัยตรงไหนเลย “ปิตุจฉา” กับ “มาตุจฉา” แปลว่าน้า หรือป้า ก็ได้ ดังนั้น ทั้งสามพระองค์ ก็จะทรงเป็นน้า อา หรือป้า ของพระเจ้าแผ่นดินแต่ละรัชกาลนั่นเอง

ผมก็สงสัยต่ออีกว่า แล้วจะรู้ได้ไงว่าพระองค์ใดเป็นน้า พระองค์ใดเป็นอา พระองค์ใดเป็นป้า ก็เลยค้นต่อ ได้ความว่า

“ปิตุจฉา” แปลว่า อาผู้หญิง หรือป้า (นับทางพ่อ) ส่วน “มาตุจฉา” ก็แปลว่า น้าผู้หญิง หรือป้า (แต่นับทางแม่)

ให้สังเกตคำว่า “ปิตุ” กับ “มาตุ” ก็ได้ครับ

ดังนั้น ตอนที่รัชกาลที่ ๗ ทรงเฉลิมพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (ในรัชกาลที่ ๕) เป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุฉาเจ้า เพราะด้วยทรงเป็นป้าแท้ๆ ของพระองค์ เพราะ สมเด็จฯ พระพันวัสสามาตุฉาเจ้า ทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินีร่วมพระชนกชนนีเดียวกัน หรือพี่สาวแท้ๆ ของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชมารดาของรัชกาลที่ ๗ จึงทรงนับเป็นพระญาติทางแม่ (แม้ว่าสมเด็จฯ พระพันวัสสาฯ จะทรงเป็นพระขนิษฐา ของรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงเป็นพระราชบิดาด้วยก็ตาม)

ส่วนพระนามของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕ นั้น ทรงเฉลิมพระนามขึ้นที่ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ด้วยทรงเป็นพระขนิษฐาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทรงเป็นพระเชษฐภคินีในพระราชมารดาด้วย หากแต่ต่างพระมารดากันครับ

พูดกันง่ายๆ ในรัชกาลที่ ๗ นั้น
สมเด็จฯ พระพันวัสสาฯ ทรงเป็นสมเด็จป้าฝ่ายแม่
แต่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ นั้นทรงเป็นสมเด็จอา ซึ่งเป็นญาติฝ่ายพ่อนั่นเองครับ
ดังนี้แล้วคงไม่ต้องสงสัยเลยว่า สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร (ในรัชกาลที่ ๘, ๙) ก็ทรงเป็นทูลกระหม่อมป้าฝ่ายพ่อ นั่นเองครับ

ในทำนองเดียวกันกับ “ปิตุลา” กับ “มาตุลา” ครับ ก็คือลุงหรืออาผู้ชายฝ่ายพ่อ กับลุงหรือน้าผู้ชายฝ่ายแม่ ตามลำดับครับ เช่น


สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศวรเดช (ทูลกระหม่อมอาในรัชกาลที่ ๖ และ ๗)

สมเด็จพระราชปิตุลาธิบดินทร์ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (ทูลกระหม่อมลุงในรัชกาลที่ ๘ และ ๙)

ส่วนพระมาตุลายังไม่พบพระยศนี้อย่างเป็นทางการ พบแต่ว่ามีการกล่าวถึง เช่น สมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ ทรงเป็นพระมาตุลาในรัชกาลที่ ๖, ๗

ด้วยทรงเป็นพระโสทรานุชาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถครับ นอกจากนี้ยังทรงเป็นพระราชสัสสุระ (พ่อตา) ในรัชกาลที่ ๗ ด้วย เพราะทรงเป็นพระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ และนับเป็นเจ้านายต่างกรมพระองค์เดียวในชั้นพระองค์เจ้าที่ยังไม่ได้เป็นกรม พระยา ที่ได้รับพระอิสริยยศชั้นสมเด็จ

เก็บความจาก
ธงทอง จันทรางศุ. (2550). ในกำแพงแก้ว. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค.
ไฟ น์สโตน, เจฟฟรี่ย์. (2543). สมุดพระรูปพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4). กรุงเทพฯ: โลมาโฮลดิ้ง
ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.

ถูกผิดประการใดบอกด้วยนะครับ
ขอบคุณมากๆ

ครูอั๋น

ใส่ความเห็น