ทูลกระหม่อม สมเด็จ และเสด็จ

การออกพระนามพระราชโอรส หรือพระราชธิดา ในพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์โดยลำลอง จะมีคำนำหน้าพระนามอยู่ ๓ คำ ตามลำดับพระอิสรยยศของแต่ละพระองค์ ได้แก่
๑. “ทูลกระหม่อม” ใช้สำหรับออกพระนามพระราชโอรส หรือพระราชธิดาที่ทรงดำรงพระอิสรยยศ “เจ้าฟ้าชั้นเอก” หรือที่ประสูติแต่พระอัครมเหสี หรือพระภรรยาเจ้าเจ้าลูกหลวง (พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์) ดังเช่นที่เราออกพระนาม “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ” ส่วนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้น ชาววังออกพระนามว่า “ทูลกระหม่อมน้อย” ซึ่งทั้งสองพระองค์ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ หรือ “ทูลกระหม่อมบริพัตร” ประสูติแต่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมิได้ทรงเป็นพระอัครมเหสี แต่ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง เพราะทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๔ อันประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี

๒. “สมเด็จ” ใช้สำหรับออกพระนามพระราชโอรส หรือพระราชธิดาที่ทรงดำรงพระอิสรยยศ “เจ้าฟ้าชั้นโท” หรือประสูติแต่พระมเหสี หรือพระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง (พระราชนัดดาของพระมหากษัตริย์รัชกาลใดรัชกาลหนึ่ง) ดังเช่นชาววังออกพระนาม สมเด็จฯ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ว่า “สมเด็จชาย” (หรือเปล่า ไม่ค่อยแน่ใจ) สมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี หรือ “สมเด็จหญิงน้อย” ในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา


๓. “เสด็จ” ใช้สำหรับออกพระนามพระราชโอรส หรือพระราชธิดาอันประสูติแต่เจ้าจอมมารดา หรือพระสนม ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยดีหากได้ชมละครย้อนยุค เช่น สี่แผ่นดิน ร่มฉัตร หรือถ้าเป็นพระราชโอรสหรือธิดาที่รับราชการและทรงกรม มักจะออกพระนามว่า เสด็จในกรม เช่นในเรื่องแต่ปางก่อน

เมื่อสองสามวันก่อน ผมคุยกับครูภาษาไทยท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่าไปสอบภาษาไทยมา โจทย์ข้อหนึ่งยกบทประพันธ์เรื่องสี่แผ่นดินของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มาถาม ดังนี้
————————————————————————————————–
“สวดมนต์เย็นบนพระที่นั่งบ่ายวันนี้มังคะ เสด็จให้มาทูลถามเสด็จว่าจะเสด็จหรือไม่เสด็จ ถ้าเสด็จจะเสด็จ เสด็จจะเสด็จด้วย ”
พลอยไม่เคยได้ยินใครพูดราชาศัพท์ ใช้คำว่า ‘เสด็จ’ คำเดียวแต่ได้ความทั้งประโยคและรวดเร็วเช่นนั้น ด้วยความแปลกใจจึงหันไปดู
เสด็จทรงพระสรวลกี๊ก รับสั่งว่า
“พลอย ถ้าจะยังไม่เคยได้ยินภาษาชาววัง ไหนพลอยบอกมาลัยเขาสิว่า เสด็จให้ไปทูลเสด็จว่า เสด็จจะเสด็จ ถ้าเสด็จจะเสด็จด้วย เสด็จก็จะดีพระทัยมาก”
————————————————————————————————–
ในบทสนทนานี้คำว่า “เสด็จ” ทำหน้าที่เป็นอะไรบ้างในประโยค (บุรุษที่ ๑, ๒, ๓ และคำกริยา) และอย่าละกี่คำครับ
แก้ไขนะครับ…เอาเฉพาะในเครื่องหมายคำพูดนะครับครับ
ซึ่งมีคำว่าเสด็จทั้งหมด 19 คำ

ลองตอบมาเล่นๆ ละกันนะครับ
ขอบคุณที่ติดตามอ่าน

  1. เสด็จในกรม คำว่าเสด็จในกรมใช้ได้เฉพาะ เจ้านายที่ได้ทรงกรมเท่านั้นครับไม่ไช่ทุกคนถึงแม้จะเป็นพระราชโอรสก็ตาม

ใส่ความเห็น